ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559

การยกเลิกประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือก 3 กรณีบำนาญชราภาพ

การยกเลิกประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือก 3 กรณีบำนาญชราภาพ
          พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2558 มีผลกระทบต่อผู้ประกันตนมาตรา 40 ดังนี้

1) ผู้ประกันมาตรา 40 กรณีบำนาญชราภาพ (ทางเลือกที่ 3 ทางเลือกที่ 4 และทางเลือกที่ 5) สิ้นสภาพเฉพาะกรณีบำนาญชราภาพทันทีโดยผลของกฎหมาย ส่วนสถานะทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 ของผู้ประกันตนดังกล่าวยังคงอยู่ สำกนังานประกันสังคมจะคืนเงินสมทบกรณีบำนาญชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนตามกฎหมาย ให้แก่ผู้ประกันตนแล้วแต่กรณี


  • ผู้ประกันตนทางเลือกที่ 3 สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40
  • ผู้ประกันตนทางเลือกที่ 4 (ทางเลือกที่ 1 + ทางเลือกที่ 3) สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เฉพาะกรณีบำนาญชราภาพ (ทางเลือกที่ 3) โดยผลของกฎหมายและยังคงความเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 สามารถส่งเงินสมทบต่อไปได้
  • ผู้ประกันตนทางเลือกที่ 5 (ทางเลือกที่ 2 + ทางเลือกที่ 3) สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เฉพาะกรณีบำนาญชราภาพ (ทางเลือกที่ 3) โดยผลของกฎหมายและยังคงความเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 สามารถส่งเงินสมทบต่อไปได้
2) สำนักงานประกันสังคมจะส่งหนังสือแจ้งสิ้นสุดผู้ประกันตนตามมาตรา 40 กรณีบำนาญชราภาพ พร้อมแบบแสดงความจำนงเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ทางเลือกที่ 4 และทางเลือกที่ 5

3) เมื่อผู้ประกันตนได้รับหนังสือแจ้งสิ้นสุดผู้ประกันตนมาตรา 40 กรณีบำนาญชราภาพแล้วให้เลือก ดังนี้
กรณีผู้ประกันตนไม่สงค์ไปเป็นสมาชิก กอช.
ผู้ประกันตนจะต้องแสดงความจำนงไม่ประสงค์จะโอนไปเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ยื่นต่อสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา
  • ผู้ประกันตนทางเลือกที่ 3 สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 กรณีบำนาญชราภาพโดยผลของกฎหมาย ผู้ประกันตนไม่สามารถขอเปลี่นแปลงทางเลือก เป็นทางเลือกที่ 1 หรือทางเลือกที่ 2 ได้ สำนักงานประกันสังคมจะคืนเงินสมทบกรณีบำนาญชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ประกันตน
  • ผู้ประกันตนทางเลือกที่ 4 สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เฉพาะกรณีบำนาญชราภาพ (ทางเลือกที่ 3) โดยผลของกฎหมาย และยังคงเป็นผู้ประกันตนทางเลือกที่ 1 สำนักงานประกันสังคมจะคืนเงินสมทบกรณีบำนาญชราภาพ (ทางเลือกที่ 3) พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ประกันตน
  • ผู้ประกันตนทางเลือกที่ 5 สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เฉพาะกรณีบำนาญชราภาพ (ทางเลือกที่ 3) โดยผลของกฎหมาย และยังคงเป็นผู้ประกันตนทางเลือกที่ 2 สำนักงานประกันสังคมจะคืนเงินสมทบกรณีบำนาญชราภาพ (ทางเลือกที่ 3) พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ประกันตน
กรณีผู้ประกันตนประสงค์ใช้สิทธิประกันสังคมและออมเงินบำนาญกับ กอช.
กรณีนี้เฉพาะผู้ประกันตนทางเลือกที่ 5 หากต้องการใช้สิทธิกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และตาย พร้อมกับออมเงินเพื่อรับนานาญกับ กอช. ผู้ประกันตนต้องแจ้งความจำนงต่อสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา เพื่อยื่นแบบเปลี่ยนทางเลือกเป็นทางเลือกที่ 1 เพื่อสำนักงานประกันสังคมจะได้โอนชื่อและเงินสมทบไปกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
การคืนเงินกรณีบำเหน็จชราภาพทางเลือกที่ 2
  • หากผู้ประกันตนอายุต่ำกว่า 60 ปีบริบูรณ์ จะได้รับเงินกรณีบำเหน็จชราภาพคืนเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทน ของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2554
  • หากผู้ประกันตนอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์สามารถรับเงินคืนกรณีบำเหน็จชราภาพทางเลือกที่ 2 ได้
กรณีผู้ประกันตนไม่แจ้งความจำนง
กรณีที่สำนักงานประกันสังคมส่งเอกสารให้แล้วและผู้ประกันตนไม่แจ้งความจำนงภายในวันที่ 23 มีนาคม 2559 สำนักงานประกันสังคมจะเก็บรักษาเงินสมทบกรณีบำนาญชราภาพไว้ และยังคงสถานะผู้ประกันตนอยู่จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น หากจะสมัครไปกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ให้ผู้ประกันตนไปติดต่อที่กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) โดยตรง

การขอรับเงินสมทบคืนกรณียกเลิกบำนาญชราภาพ
การขอรับเงินสมทบคืนเมื่อผู้ประกันตนมาตรา 40 กรณีบำนาญชราภาพสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน ผู้ประกันตนสามารถขอรับเงินผ่านธนาคารได้ 4 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารออมสิน โดนแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร หากผู้ประกันตนไม่มีบัญชีธนาคาร สามารถรับเงินโดยให้สั่งจ่ายไปรษณีย์ธนาณัติได้

ในส่วนของสำนักงานประกันสังคมยังคงให้สิทธิความคุ้มครองประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 ต่อไป ซึ่งมีสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และเงินบำเหน็จชราภาพ

  • ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบเดือน 100 บาท (ผู้ประกันตนจ่าย 70 บาท และรัฐสมทบ 30 บาท) ได้รับสิทธิประโยชน์ (เงินชดเชยขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย/ประสบอันตราย ทุพพลภาพ และตาย)
  • ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบเดือนละ 150 บาท (ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท และรัฐสมทบ 50 บาท) ได้รับสิทธิประโยชน์ (เงินชดเชยขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย/ประสบอันตราย ทุพพลภาพ ตาย และบำเหน็จชราภาพ


ที่มา : วารสารประกันสังคม ปีที่ 21 ฉบับที่ 10 เดือนพฤศจิกายน 2558
-------------------------------------------------------------------------------
ศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงานจังหวัดกระบี่
กลุ่มงานยุทธศาสตร์ - สำนักงานแรงงานจังหวัดกระบี่
โทรศัพท์ 0-7566-8143

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

  #ศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงานจังหวัดกระบี่ ดำเนินการให้บริการด้านแรงงานตามภารกิจของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานที่สามารถดำเนินการ ณ จุดเด...