ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2560

สิทธิ (การรักษา) ....ใครว่าไม่สำคัญ

     
พูดถึง "สิทธิ" ทุกคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ต้องการได้รับ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิที่ภาครัฐจัดให้ หรือสิทธิที่ได้รับจากภาคเอกชนก็ตาม ครั้งนี้เรามาทำความเข้าใจสิทธิของผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมว่าเมื่อเป็นผู้ประกันตนแล้วนอกจากสิทธิจากกองทุนประกันสังคมแล้วจะยังคงได้รับสิทธิอื่นอีกหรือไม่ อย่างไร

     สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนได้รับจากกองทุนประกันสังคม  มีอยู่ 7 กรณีด้วยกัน คือ สิทธิกรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพและกรณีว่างงาน ซึ่งสิทธิทั้ง 7 กรณีนี้เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ประกันตน เมื่จ่ายเงินสมทบครบตามเงื่อไขการเกิดสิทธิแต่ละกรณีแล้วก็จะได้สิทธิดังกล่าว โดยไม่รวมถึงบุคคลในครอบครัว

     ในที่นี้เราจะมาทำความเข้าใจถึงสิทธิการรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยของผู้ประกันตนกับสิทธิอื่นๆ เช่น สิทธิบัตรประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และสิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการว่าต่างกันอย่างไร และเมื่อผู้ประกันตนมี 2 สิทธิซ้อนกันจะได้รับสิทธิอย่างไร

     เบื้องต้นเมื่อเป็นผู้ประกันตนที่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมได้จ่ายเงินสมทบครบตามเงื่อไขการได้รับสิทธิกรณีเจ็บป่วย (ครบ 3 เดือนภายใน 15 เดือน) เมื่อเจ็บป่วยจะสามารถเข้ารักษาพยาบาลได้ที่สถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดสิทธิในการเข้ารับการรักษาพยาบาลได้โดยไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย


     ส่วนสิทธิบัตรทองเป็นสิทธิเฉพาะบุคคลที่ดูแลประชาชนทุกคนที่ไม่ได้รับสิทธิค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยงานอื่น ตั้งแต่แรกเกิดจนตาย ตามเงื่อไขการได้รับสิทธิตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

     และสำหรับสิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ เป็นสิทธิที่ให้ความคุ้มครองแก่ข้าราชการและบุคคลในครอบครัวคือ คู่สมรส บุตร บิดา มารดาของข้าราชการด้วย ซึ่งบุคคลในครอบครัวดังกล่าวถือว่าเป็นผู้อาศัยสิทธิของข้าราชการ แต่เงื่อไขของการได้รับสิทธิของผู้อาศัยสิทธิข้าราชการจะต้องเป็นไปตามพระราชกฤษฏีกาสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ.2553 กำหนด คือ ผู้อาศัยสิทธิต้องไม่เป็นผู้ได้รับสิทธิจากหน่วยงานอื่น เช่น สวัสดิการจากรัฐวิสาหกิจ กองทุนประกันสังคม โดยหากผู้อาศัยสิทธิได้รับสิทธิจากหน่วยงานอื่นแล้ว ต้องใช้สิทธิเฉพาะตัวซึ่งเป็นสิทธิหลักก่อน จึงจะสามารถนำค่าใช้จ่ายส่วนที่เกินไปใช้สิทธิเบิกจากสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการได้ตามเงืื่อนไขกฎหมายกำหนด เช่น ผู้ประกันตนมีสามีเป็นข้าราชการ ผู้ประกันตนเจ็บป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐที่ไม่ใช่โรงพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดสิทธิให้และใช้เวลารักษาพยาบาลหลายวัน ผู้ประกันตนต้องใช้สิทะิเบิกค่ารักษาพยาบาลจากสำนักงานประกันสังคมตามที่ประกาศฯ กำหนดตามสิทธิหลักก่อน และหากค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับน้อยกว่าสิทธิค่ารักษาพยาบาลของสิทธิข้าราชการ ค่ารักษาพยาบาลส่วนเกินจึงจะสามารถนำไปใช้สิทธิจากหน่วยงานต้นสังกัดตามสิทธิข้าราชการของสามีได้

     หรือกรณีที่ผู้ประกันตนมีสิทธิ 2 ่สิทธิ คือเป็นข้าราชการและขณะเดียวกันเป็นผู้ประกันตน มีสิทธิประกันสังคมด้วยซึ่งถือว่ามีสิทธิหลัก 2 สิทธิซ้อนกัน กรณีนี้ในส่วนสิทธิของข้าราชการกำหนดให้ข้าราชการสามารถเลือกใช้สิทธิได้โดยแสดงความประสงค์แจ้งเลือกสิทธิที่หน่วยงานต้นสังกัดว่าจะใช้สิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการหรือสิทธิจากกองทุนประกันสังคม ส่วนสิทธิที่ผู้ประกันตนได้รับจากกองทุนประกันสังคม เมื่อผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบครบตามเงื่อนไขแล้วสามารถใช้สิทธิรับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมได้ แม้ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิค่ารักษาพยาบาลจากสิทธิอื่นๆ ก็ตาม

     ส่วนอีกสิทธิหนึ่งคือ สิทธิการได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากภาครัฐ ผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคม เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว ยังคงมีสิทธิ์ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่รัฐจัดให้ด้วยโดยไม่มีผลกระทบต่อสิทธิแต่อย่างใด

     เห็นแล้วนะครับว่าสิทธินั้นสำคัญแค่ไหน ขอแนะนำผู้ประกันตนทุกท่านศึกษาเรื่องสิทธิให้เข้าใจ เพื่อจะได้ไม่เสียสิทธิที่พึงได้รับตามกฎหมาย


--------------------------------------------------------------------
#ศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงานจังหวัดกระบี่

1 ความคิดเห็น:

สรุปผลการดำเนินงาน ไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ พ.ศ.2567

ผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานให้บริการประชาชน ณ จุดให้บริการงานศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานแรงงานจังหวัดกระบี่ โดย นา...